นักรบแห่งผืนป่าตะวันตก

นักรบแห่งผืนป่าตะวันตก

เมื่อมีสัตว์ต้องสังเวย ภาพของพวกเขาจึงปรากฏ นี่คือ "ผู้พิทักษ์"​ ผู้ถือปืนยืนมั่นและพร้อมลั่นไกเพื่อปกป้องผืนป่าอันเป็นที่รัก

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่น "จุดประกาย" เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2559

ปัง ปัง ปัง! 

เสียงปืนดังสนั่นจากหน่วยพิทักษ์แม่เรวา หน่วยหนึ่งในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผืนป่าด้านตะวันตกของไทย

ไม่ใช่แค่ 3 นัด แต่เสียงปืนยังดังต่อเนื่องตลอดวัน และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ ถ้าคนสั่งไม่ยอมให้หยุด...

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เวลาที่แม้ไม่ได้มี “ภัยคุกคาม” แต่ทว่าที่นี่กำลังฝึกคนให้รู้จักต่อสู้กับภัยทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ใน "ป่า"

“เราไม่ใช่ทหาร” แทบจะทุกคนที่ได้รับการฝึกคิดแบบนั้น แม้จะต้องรู้จักจับปืน พรางตัว แกะรอย ต่อสู้ระยะประชิด หรือยุทธวิธีต่างๆ นานา

แม้ไม่ได้ไปออกรบ แต่ทุกองค์ความรู้ที่ว่ามานั้นต้องมีไว้ติดตัว เพราะในทุกๆ วัน ภารกิจในการ “ปกป้อง” พื้นที่ป่าของพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับการปกป้องสมบัติล้ำค่าของชาติไทย

686412_4_1455100494

ออกเดินเพื่อผืนป่า

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) คือ ภารกิจสำคัญของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม้ที่พร้อมใจกันปฏิบัติมาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภัยคุกคามในผืนป่า ซึ่งในพื้นที่ที่กำลังดำเนินการลาดตระเวนเชิงคุณภาพนี้ ก็มีพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง บริเวณสำคัญของผืนป่าตะวันตกที่พบการเพิ่มขึ้นของประชากรเสือโคร่งรวมอยู่ด้วย

การลาดตระเวนไม่ใช่แค่ออกเดินอย่างเดียว... นอกจากวิชาการต่อสู้ จับปืน ที่ฝึกฝนมาแล้ว พวกเขายังต้องมีอุปกรณ์คู่กายเป็นจีพีเอส กล้องถ่ายรูป และกระดาษบันทึก เพื่อนำสิ่งที่ได้ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้าสัตว์ รอยเท้าคน มูลสัตว์ พืชพรรณชนิดใหม่ ไปรวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของพื้นที่ ซึ่งจากการทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน ทำให้ผืนป่าตะวันตกมีข้อมูลเก็บไว้มากมาย ซึ่งล้วนมีประโยชน์ในการทำแผนป้องกันภัย และแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูตามมา

เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็จะต้องแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักร่วม 20 กิโลกรัม
บรรจุเสบียงเป็นข้าวสารอย่างต่ำคนละ 1 กิโลกรัม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กาแฟผง อาหารง่ายๆ พร้อมอุปกรณ์
เช่น หม้อสนาม เปลนอน ผ้าชีทกันฝน ไฟฉาย และ ปืน

“แปดองศา ผมก็เจอมาแล้ว” สัญชัย สิทธิเวช เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประจำอุทยานแห่งชาติคลองลาน วัย 42 เอ่ยถึงความยากลำบากที่ต้องอยู่ในป่าลึกเมื่อครั้งไปเก็บเมมโมรีของกล้องดักถ่ายภาพสัตว์เมื่อเดือนที่แล้ว

แม้จะคาดไม่ได้ว่าจะเจอกับอะไรบ้างในทางข้างหน้า แต่เมื่อภารกิจลาดตระเวนเริ่มต้น เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็จะต้องแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักร่วม 20 กิโลกรัม บรรจุเสบียงเป็นข้าวสารอย่างต่ำคนละ 1 กิโลกรัม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กาแฟผง อาหารง่ายๆ อย่างหมูรวน พร้อมอุปกรณ์ เช่น หม้อสนาม เปลนอน ผ้าชีทกันฝน ไฟฉาย และปืน ออกเดินไปตามแผน

“งานปราบปรามเราประสบความสำเร็จ ตอนนี้อย่างป่าแม่วงก์บ้านเราอุดมสมบูรณ์ มองขึ้นฟ้ามีนกเงือก ในป่ามีเสือ ในน้ำมีตัวนาก แสดงว่า มันสมบูรณ์มาก” วิชา ผลารักษ์ เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่เข้าร่วมฝึกการลาดตระเวนเอ่ยถึงภารกิจการออกเดินของตัวเองอย่างภูมิใจ

วิชา วัย 40 เข้าฝึกเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาแล้ว 5 ครั้ง และได้นำไปปรับใช้ในการออกเดินลาดตระเวนตลอดในทุกเดือน เดือนละ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน รวมแล้วเป็นเวลา 15 วันที่เขากับเพื่อนต้องเดินเข้าไปในป่าระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร เพื่อสำรวจพื้นที่ในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบ

“เดือนนึงเดิน 16 วัน ก็แล้วแต่ เราจะไปสับเปลี่ยนแผนว่า เราจะเดิน สามคืน สี่วัน หรือห้าคืน หกวัน เราก็มีวันพักของเรา มีสี่ชุดสลับกัน จริงๆ เราเดินมาตั้งแต่ปี 2535-36 ตอนนั้นก็เดินมีทิศทาง แต่ไม่มีการลงข้อมูล ไม่มีการจับจีพีเอส เพิ่งมีเมื่อ 5-6 ปีนี้ ตอนนี้ก็ได้ผล เรามีการรายงานตลอด ภายในเขตอุทยานเรา 187,500 ไร่ ตรงไหนที่เรายังไม่ได้เดิน” สัญชัยเล่าแผนปฏิบัติการในความรับผิดชอบของตัวเองในพื้นที่คลองลาน

ก่อนเดินเข้าไปในป่า เจ้าหน้าที่จะมีแผนที่วางไว้ก่อนทุกครั้งว่า ครั้งนี้จะเข้าไปทำอะไร หรือต้องการอะไร หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ได้ยินเสียงปืน หรือเจอร่องรอยพรานป่า แผนที่วางไว้ก็เปลี่ยนได้เสมอ

“ประมาณ 30 นาทีถึงชั่วโมงนึง เราจะกดมาร์ค (จีพีเอส) 1 ครั้ง อันนี้มาร์คปกติ ไม่ได้เจออะไรก็ต้องมาร์ค แต่ถ้าเราไปเจอ เช่น มูลสัตว์ เราก็จะจดบันทึก มาร์คด้วย เก็บมูลเสือด้วยมาให้เขาวิจัยต่อว่ามันกินอะไรเข้าไปบ้าง เพราะมันมีผลต่อการวิเคราะห์หมด” สัญชัยเล่า

จะมีแผนที่วางไว้ก่อนทุกครั้งว่า
ครั้งนี้จะเข้าไปทำอะไร หรือต้องการอะไร
หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ได้ยินเสียงปืน
หรือเจอร่องรอยพรานป่า
แผนที่วางไว้ก็เปลี่ยนได้เสมอ

นอกจากจะสำรวจสิ่งรอบตัวที่พบเห็นแล้ว พวกเขายังมีหน้าที่ในการนำกล้องดักถ่ายภาพจากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ไปติดไว้ทั่วป่าด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่ผ่านการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนแล้วว่า น่าจะเป็นเส้นทางของเสือโคร่ง สัตว์ที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า

“กล้องของเราเคยถ่ายติดเสือที่โดนสำรวจมาแล้ว ไปติดช่วงปลายที่ติดกับวังเจ้า (อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า) แล้ว ปีแรกๆ ตื่นเต้นมาก คิดตลอดว่า ทีมไหนจะเจอนะ ทีมเราจะเจอหรือเปล่า ทีมเราจะได้ตัวใหม่ไหม” เกษม พิลึก เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนประจำอุทยานแห่งชาติคลองลานเล่า

เรียนรู้และฝึกฝน

เกษม เจ้าหน้าที่วัย 37 ที่อยู่ประจำอุทยานแห่งชาติคลองลานมา 15 ปี ได้รับการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพจนได้เป็นผู้ช่วยครูฝึกเจ้าหน้าที่ในรุ่นต่อๆ ไป หรือหากเจ้าหน้าที่ในเขตของตัวเองไม่ได้เข้ารับการฝึกก็จะรับไปฝึกต่อให้ 

เขาบอกว่า แม้ในหนึ่งทีมที่ออกเดิน อาจจะไม่ได้มีคนที่เชี่ยวชาญทุกคน รู้แต่ละด้านต่างกันไป เช่น รู้เรื่องต้นไม้ การนำทาง การดูร่องรอยสัตว์ แต่การออกเดินในแต่ละครั้งก็พยายามช่วยกันตลอด

สำหรับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้นจะต่างกัน เริ่มตั้งแต่ที่ไม่เป็นพิษภัย แต่ผิดกฎ อย่างการลอบเข้าไปเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ของชาวบ้าน ไปจนถึงภัยที่รุนแรงการลอบค้าไม้หอม การวางยาสัตว์ เพื่อหวังที่จะล่าเสือโคร่ง ฉะนั้นวิชาความรู้ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าร่ำเรียนกันมา ก็จะได้ใช้ต่างกันไป

686412_3_1455100494

“เราเคยถูกปิดล้อมอยู่ 3 ชั่วโมง เราไปจับชาวมูเซอได้ แล้วเขาใช้ผู้หญิงกับเด็กปิดล้อม เพื่อจะชิงผู้ต้องหาคืน เกณฑ์คนทั้งหมู่บ้านมาล้อมเรา ไม่ให้เราออก เรามีกัน 6-7 คน แม้ผู้ต้องหาอยู่ในรถเราแล้ว เราก็ออกไม่ได้ จนต้องเรียกตำรวจเข้าไปช่วย” เกษม เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติคลองลานเล่า

เราไม่ได้รบแบบทหารที่เอาเป็นเอาตาย
เขามีปืนจะเข้า หรือจะไม่เข้า
ถ้าเขาอาวุธดี ก็ต้องรู้จักหากำลังเสริม
ไม่ใช่ว่าแบบห่ามๆ บ้าๆ บอๆ

ความรู้และยุทธวิธีต่างๆ ที่ได้รับการฝึก อาจจะไม่ได้เข้มข้นเหมือนทหารหรือตำรวจ แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา แสดงให้เห็นแล้วว่า การฝึกมีความจำเป็นมากแค่ไหน ซึ่งครูฝึกตำรวจตระเวนชายแดนอย่าง ดต.สุริยันต์ จันทนาม ที่ทำการฝึกให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามานานเห็นว่า ต้องฝึกไว้เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ

“เราไม่ได้รบแบบทหารที่เอาเป็นเอาตาย เราไม่ได้เป็นแบบตำรวจที่ใช้กฎหมาย เราเอาตัวเองรอด เราได้ข้อมูล เรารู้ว่าตรงไหนต้องเฝ้าระวัง ยุทธวิธีในเรื่องของการลาดตระเวน การล้อมจับ การตัดสินใจ เขามีปืนจะเข้า ไม่เข้า ถ้าเขาอาวุธดี ก็ต้องรู้จักหากำลังเสริม ไม่ใช่ว่าแบบห่ามๆ บ้าๆ บอๆ ต้องดู ต้องคิดให้ตก ทำยังไงให้ได้เปรียบ” ดต.สุริยันต์บอก

ธนกฤต สำเภา ผู้บังคับหมู่ตำรวจตระเวนชายแดน หนึ่งในครูฝึก อธิบายด้วยว่า การฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่นั้นจะพิจารณาก่อนว่า เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ต้องการอะไร ยังขาดทักษะในด้านใดบ้าง จึงจะฝึกตามแนวทางให้อย่างเหมาะสม ทุกคนจะต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานและค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นถึงขั้นที่สามารถเป็นผู้นำในการออกไปลาดตระเวนในป่า

นอกจากวิชาความรู้เพื่อเอาไปใช้ในป่า อีกหนึ่งอย่างที่ครูฝึกต้องสอดแทรกเข้าไปด้วยนั้นคือ ความรักป่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฯ ไม่หนีหายไปไหน และมีใจคิดจะทำจริงๆ

“อย่างน้อยเขาก็เดินได้ เขามีสามัญสำนึกที่จะดูแลป่า ทำให้เขามีภาคภูมิใจว่ามีคนมองเขาอยู่ ให้ความสำคัญกับเขา เราเสริมตรงนี้เสมอว่า เราอยู่ตรงนี้ ให้เกียรติเขา อัพเขาขึ้นมา ให้เขารู้ว่าเป็นตัวแทนของพวกเรา บางคนเป็นคนดอย เป็นกะเหรี่ยง คนมองไม่ดี แต่เราต้องทำให้เขารู้สึกดี” ดต.สุริยันต์ย้ำ

686412_2_1455100494

ได้มาเพราะหน้าที่

“หลายปีกว่าจะรักป่าจริงจัง เมื่อก่อนลุงเคยเป็นพรานมาก่อน พรานล่าสัตว์ก็ไปกับลุง ยิงเก้ง ยิงหมูป่า ตอนเป็นวัยรุ่นตามประสา 2-3 ปี เราก็เลยเอาวิชาที่เราเคยเป็นพรานว่า มันจะต้องไปอย่างนี้ เราสามารถไปดักเขาได้ ดักทางพรานได้ถูก” สมหมาย ขันตรี เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาติคลองลาน วัย 48 ปี เล่าถึง ความรักป่า ที่ค่อยๆ ซึมซับเข้าในหัวใจ

“เขามาเบื่อเสือ เรารู้สึกโกรธมาก ถ้าเจอจะยิงแน่ มาเบื่อนี่ สัตว์เล็กสัตว์น้อยตายหมดนะ พวกเม่น พวกอะไร มันไม่ใช่แต่เสืออย่างเดียว เม่นตายเป็นสิบ เราทำหน้าที่นี้แล้ว เราก็ไม่อยากให้มันตาย เราอยากให้มันเพิ่ม เหมือนจะบอกว่า เราทำสำเร็จ แต่ถ้ามันลด แสดงว่าเราล้มเหลวในการทำงาน” สมหมายเล่าต่อ

ปัจจุบันสมหมายทำงานมา 22 ปี จากเงินเดือน 3,400 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 13,000 บาท ตั้งเป้าไว้ว่า สักวันจะได้มีโอกาสเป็นครูฝึกเจ้าหน้าที่ให้ลาดตระเวนอย่างมีคุณภาพให้ได้

“การฝึกฝนเป็นสิ่งสำคัญมาก คนเราก็เหมือนมีด เมื่อมีการใช้งานก็ต้องลับให้คมอยู่เสมอ ผมคิดว่า มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกัน ถ้าเราไม่ช่วย แล้วจะให้ใครมาช่วย” สมหมายบอก

เขามาเบื่อเสือ เรารู้สึกโกรธมาก
ถ้าเจอจะยิงแน่ มาเบื่อนี่ 
สัตว์เล็กสัตว์น้อยตายหมด

686412_0_1455100494

การจะออกไปสมบุกสมบันอยู่ในป่าได้นานหลายวัน เจ้าหน้าที่หลายคนบอกตรงกันว่า ต้องมีใจรัก และรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ แล้วก็จะมีกำลังใจในการออกเดินต่อไปอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งมีตัวชี้วัดให้เห็นเป็นภาพเสือ หรือสัตว์อื่นๆ ที่ดักถ่ายได้ ก็ยิ่งภูมิใจในการทำงานมากขึ้น แม้คนข้างนอกจะมองว่า เป็นงานที่ต่ำด้อย หรือเงินเดือนจะน้อยกว่างานอื่นเพียงใด

“บางทีก็คิดว่า เราเดินซ้ำๆ บนทางเดิมหรือเปล่า แต่เราทำงานไปเรื่อยๆ มันจะมีคำตอบมาว่า สิ่งที่เราดูแล ทำให้เกิดความภูมิใจ สามารถไปถ่ายทอดให้คนอื่นฟังได้ ไปคุยให้เด็กที่มาเข้าค่ายฟังได้ หรือน้องที่เข้ามาใหม่ เราก็บอกทำไปนะ เราเฝ้าสมบัติของชาติไว้” วิชาบอก ซึ่งเขาเองยังมีหน้าที่ไปให้ความรู้แก่เด็กๆ ในพื้นที่รอบป่าด้วย

จำนวนเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นในผืนป่าตะวันตก จากพื้นที่ผืนป่าแม่วงก์ - คลองลาน ปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2559) มีรวมทั้งสิ้น 14 ตัว (ข้อมูลล่าสุดเมื่อกันยายน 2560 พบเสือโคร่งใหม่จำนวน 16 ตัว) เป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงไม่ลดละในการออกเดินลาดตระเวน

อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาติ ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการเดิน แต่ยังรวมไปถึงการดูแลในส่วนของการท่องเที่ยว การซ่อมแซมบ้านพัก การเฝ้าเวรยาม ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีโอกาสได้ทำหลายๆ หน้าที่ในตำแหน่งเดียวกัน หน้าที่ตรงนี้เจ้าหน้าที่ฯ อย่างวิชาก็ไม่ได้ละเลย เพราะเห็นว่า เป็นงานที่สนับสนุนการรักษาป่าไม่ต่างกัน

“แม่วงก์ก็จะมีฝ่ายรับนักท่องเที่ยว ฝ่ายป้องกัน แต่ผมรวมเลย อยู่หน่วยด้วย ปราบปรามด้วย ทำได้ทั้งคู่ ก็ไปตามโรงเรียนร่วมกับคลองลาน ลูกเสือเข้าค่าย เขาออกปราบปรามก็ออกไป วันหยุดก็อาจจะน้อยหน่อย” วิชาบอก

หลายคนทำหน้าที่นี้มาเป็นสิบๆ ปี หมุนเวียนไปทำหลายภารกิจเพื่อป่า ไม่ว่าจะออกเดิน หรือสร้างสัมพันธ์ในชุมชน แม้จะเหนื่อย ไม่ถนัด หรือยากแค่ไหน แต่ถ้าเพื่อป่าแล้ว ก็ยังไม่ถอยง่ายๆ

อย่างเช่นสมหมายที่ยืนยันน้ำเสียงหนักแน่นว่า..

อย่างที่เราเดิน เราจะเดินจะไปทำไม ใช่ไหม เราก็คิดอยู่อย่างเดียวว่าเรากำลังปกป้องรักษาป่าอยู่”