คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงาน หรือไม่มีงานให้ทำ? ‘จีน’ รับมือประชากรโตสวนทาง ’เศรษฐกิจ’

คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงาน หรือไม่มีงานให้ทำ? ‘จีน’ รับมือประชากรโตสวนทาง ’เศรษฐกิจ’

คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงาน หรือไม่มีงานให้ทำ? อัตราการว่างงานคนรุ่นใหม่ในจีนเพิ่มขึ้น เพราะภาคธุรกิจหัวใจสำคัญการจ้างงานกำลังดิ้นรน เพื่อฟื้นตัวท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่กำลังอ่อนแอหลังวิกฤติโควิด ทำให้การสร้างงานให้เพียงต่อบัณฑิตจบใหม่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับจีน

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรก แต่การสร้างงานให้เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง“งานสำหรับคนหนุ่มสาว” ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับจีน เพราะคนรุ่นเยาว์จำนวนมากในจีนกำลังเผชิญกับภาวะ “ว่างงาน” จากรายงานระบุว่า “อัตราการว่างงาน” ของจีนสำหรับกลุ่มคนวัย 16 ถึง 24 ปี ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 15.3% ในเดือนมีนาคมปีนี้ ขณะที่อัตราการว่างงานสำหรับกลุ่มอายุ 25 ถึง 29 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 7.2%

คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงาน หรือไม่มีงานให้ทำ? ‘จีน’ รับมือประชากรโตสวนทาง ’เศรษฐกิจ’

จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหานี้ ตามข้อมูลจาก Trading Economics ในเดือนกุมภาพันธ์  อัตราการว่างงานสเปน สำหรับกลุ่มอายุ 16 ถึง 24 ปี อยู่ที่ 28.2% ขณะที่อิตาลี อยู่ที่ 22.82% และสวีเดนอยู่ที่ 22.3% ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา อัตราการว่างงานสำหรับกลุ่มอายุ 16 ถึง 24 ปี อยู่ที่ 8.8%ในเดือนมีนาคม

เศรษฐกิจจีนโตตามเป้า อาจไม่ช่วยให้ตัวเลข ‘การว่างงาน’น้อยลง

การที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตตามเป้าหมายในปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าคนหางานรุ่นเยาว์จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้เท่าที่ควร สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่การส่งออกเป็นหลัก แต่การบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงฟื้นตัวช้า ซึ่งมีความสำคัญต่อตลาดแรงงานมากกว่าการส่งออก ดังนั้นคนหนุ่มสาวจำนวนมากจึงยังคงเผชิญกับปัญหาการว่างงาน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนโดยรวมจะเติบโตก็ตาม

นายแลร์รี่ ฮู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนประจำ แมคควอรีแคปิตอลอธิบายว่า "การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากความต้องการจากต่างประเทศ" ส่งผลให้ตลาดแรงงานภายในประเทศไม่ได้รับการกระตุ้นมากนัก

จีนรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDPจีน) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 6 ล้านล้านหยวน ในปี 2566 ซึ่งทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนคาดว่าจะสร้างงานใหม่ได้อย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่ง

แม้เศรษฐกิจจีนจะเติบโต แต่ตัวเลขการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวยังน่าเป็นห่วง โดยจีนตั้งเป้าหมายสร้างงานใหม่ในเขตเมืองกว่า 12 ล้านตำแหน่งในปี  2567 หลังจากที่สร้างงานได้ 12.44 ล้านตำแหน่งในปี 2566 

โดยกระทรวงแรงงานและทรัพยากรมมนุษย์รายงานว่า จีนสามารถสร้างงานใหม่ได้ 3.03 ล้านตำแหน่งในไตรมาสแรกของปี 2567 ถึงแม้จีนจะสร้างงานใหม่ได้จำนวนมาก แต่บัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ที่มีจำนวนสูงถึง 11.79 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด อาจเผชิญกับโอกาสการหางานในตาดที่ลดน้อยลง

‘เอกชนจีน’ เครื่องจักรสำคัญที่กำลังอ่อนแรง

“ภาคเอกชนจีน” มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเป็นผู้จ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% และมีส่วนในการสร้างงานในเมืองกว่า 80% ซึ่งคิดเป็นกว่า 90% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในประเทศ

แต่ปัจจุบัน ภาคเอกชนจีนกำลังเผชิญกับปัญหา เพราะเศรษฐกิจที่หนุนภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว จากสถานการณ์โควิด-19 ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งมาตรการควบคุมเข้มงวดของภาครัฐที่มีต่อบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันกวดวิชานอกสถานศึกษาเมื่อสองสามปีที่ก่อน

นายเปง เปง ประธานกรรมการบริหารของสมาคมปฏิรูปกวางตุ้ง (Guangdong Society of Reform) กล่าวว่าภาคธุรกิจเอกชนมีความเชื่อมั่นในตลาดน้อยลง บริษัทขนาดใหญ่มีการปลดพนักงานมากขึ้น บริษัทขนาดเล็กไม่กล้าที่จะรับพนักงานใหม่ และการแข่งขันในตลาดแรงงานรุนแรงขึ้น

จาง ยูเจี๋ย วัย 26 ปี ลาออกเป็นครั้งที่สอง หลังจากเรียนจบเพียงไม่กี่ปี ขณะนี้เธอกำลังมองหางานใหม่ แม้จะตระหนักดีถึงความเสี่ยงในตลาดงานที่ตึงตัวของจีน

“ฉันกับเพื่อนร่วมงานรู้สึกได้ว่า บริษัทไม่มีงบประมาณจ้างพนักงานใหม่ และฉันทำงานแทนคนถึงสามคน ภาระงานหนักเป็นเหตุผลหลักที่ฉันลาออกครั้งแรก” เจียง กล่าว

ผลสำรวจชี้ชัดว่า ภาคเอกชนจีน กำลังอยู่ในภาวะ “อ่อนแรง” ซึ่งส่งผลต่อการรับสมัครงาน ทางสำนักงานกฎหมายสำนักงานกฎหมายต้าเฉิงในกรุงปักกิ่ง สำรวจบริษัทเอกชนจีน 1,410 แห่ง พบว่ามีเพียง 41% ที่มีรายได้เติบโตในปีที่ผ่านมา มี 34% รายงานว่ารายได้ลดลง 49% วางแผนเพิ่มจำนวนพนักงานเล็กน้อยในอีกสองปีข้างหน้า 26% วางแผนคงจำนวนพนักงานเท่าเดิม และ 6% กำลังพิจารณาการลดจำนวนพนักงาน

ร่อนจดมหายสมัครงานกว่า 300 แห่ง แต่โอกาสริบหรี่

“เมื่อสองปีก่อน ส่งใบสมัคร 100 ฉบับ ได้รับเชิญสัมภาษณ์จำนวนมาก บางวันต้องไปสัมภาษณ์ติดต่อกันถึง 3 ที่ แต่ปีนี้ส่งใบสมัครไปกว่า 300 ฉบับ ได้รับเชิญสัมภาษณ์เพียง 5 ครั้ง และไม่ประสบความสำเร็จ”

ลี่ หานชิง บัณฑิตวัย 25 ปี จากเซี่ยงไฮ้ ได้เข้าร่วมงานสัปดาห์วิชาชีพ (job fair) ในมหาวิทยาลัย แต่กลับพบว่าโอกาสทางการงานมีน้อยลงทุกปี “ฉันไม่อยากกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘นอนราบ’ แต่สถานการณ์บังคับ” 

นายเปง เปง กล่าวว่าเทรนด์ “นอนราบ” (Lying flat) หรือ “ถังผิง” ในภาษาจีน ชื่อเรียกของการไม่ทำงาน ไม่แสวงหาความก้าวหน้า กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวจีน เนื่องจากตลาดงานที่แข่งขันรุนแรงทำให้โอกาสในการหางานที่มีเงินเดือนดีและมีความมั่นคงลดน้อยลง นอกจากนี้ บัณฑิตจบใหม่บางคนยังสามารถพึ่งพาเงินจากพ่อแม่ได้ ทำให้ไม่รีบร้อนหางาน

จีนเร่งหาทางออกสำหรับปัญหา ‘วัยรุ่นว่างงาน’

นายเปง เปง เสนอแนะให้กรุงปักกิ่ง พิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทต่างๆ โดยพิจารณาจากจำนวนพนักงานที่บริษัทนั้นๆ จ้าง นอกจากนี้ ยังควรสร้างโอกาสทางการงานมากขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาวในภาคบริการที่มีความต้องการสูง เช่น งานแม่บ้าน งานดูแลผู้สูงอายุ และงานด้านสาธารณสุข

ด้านรัฐบาลจีนเองก็มีแผนการในการรับมือ โดยกระทรวงทรัพยากรมมนุษย์และประกันสังคม กล่าวว่า รัฐบาลจีนให้คำมั่นที่จะสนับสนุนผู้หางานรุ่นเยาว์มากขึ้น โดยจะเน้นการฝึกอบรมทักษะในภาคส่วนที่มีความต้องการสูง เช่น การผลิตขั้นสูง บริการสมัยใหม่ และการดูแลผู้สูงอายุ

แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความท้าทายในอนาคตของจีน เนื่องจากสถาบันวิจัยแรงงานและประกันสังคมแห่งประเทศจีน (China Academy of Labour and Social Security) กล่าวในเดือนพฤศจิกายนปี 2566 ว่า “ปัญหาการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว” ยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากจำนวนประชากรวัย 16 ถึง 24 ปี ของจีนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแตะ 161 ล้านคนในปี 2576 จากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 96 ล้านคน ส่งผลให้มีแรงงานหน้าใหม่จำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ทางสถาบันวิจัยฯ ยังกล่าวอีกว่า อัตราการเข้าร่วมตลาดแรงงานของกลุ่มคนวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้น และทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของบัณฑิตจบใหม่

อ้างอิง SCMP