‘AI - ดาต้าเซ็นเตอร์’ เทคโนฯ ล้ำ ที่ต้องเป็นมิตรกับโลก

‘AI - ดาต้าเซ็นเตอร์’ เทคโนฯ ล้ำ ที่ต้องเป็นมิตรกับโลก

ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” โดยเฉพาะ “Generative AI” เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด

อัลวิน เฉิง ผู้อำนวยการส่วนธุรกิจ High Density Compute และ AI ประจำภูมิภาคเอเซีย เวอร์ทิฟ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น เปิดมุมมองว่า วันนี้ AI ไม่ได้จำกัดการใช้งานอยู่แค่ในแวดวงเทคโนโลยีเท่านั้น

โดยได้เห็นว่าคนทั่วไปต่างก็รับรู้ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI ได้อย่างไร ซึ่งนับว่าเป็นกระแสที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 

จากการคาดการณ์ของ Global Market Insights พบว่า ในปี 2571 ตลาด GPU สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์จะขยายตัวขึ้นถึงสี่เท่าจากปัจจุบัน โดยอาจมีมูลค่าสูงถึง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ‘AI - ดาต้าเซ็นเตอร์’ เทคโนฯ ล้ำ ที่ต้องเป็นมิตรกับโลก นอกจากนี้ Mordor Intelligence ยังคาดการณ์ว่า เมื่อพิจารณาจากความต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์และปริมาณข้อมูลที่มากขึ้น ตลาดคอมพิวติ้งประสิทธิภาพสูงจะมีมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

‘ความท้าทาย’ ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

สำหรับความท้าทายประการหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังก็คือ การขับเคลื่อน AI นั้นต้องใช้ความสามารถในการคำนวณขั้นสูง ซึ่งการที่ต้องคำนวนอัลกอริธึมอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความมหัศจรรย์ของ AI ให้เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดความร้อนปริมาณมหาศาลในดาต้าเซ็นเตอร์

ขณะที่ ดาต้าเซ็นเตอร์กำลังง่วนอยู่กับการประมวลผลนั้น การใช้พลังงานก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้สิ่งต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

และนี่ไม่ใช่แค่ผลพวงจาก AI เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การใช้คลาวด์คอมพิวติ้งในวงกว้างและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ในอุปกรณ์ล้ำสมัยต่างๆ ไปจนถึงตัวดาต้าเซ็นเตอร์ ต่างก็ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรสำหรับการถ่ายเทความร้อนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“การถ่ายเทความร้อนออกจากดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้นจะต้องใช้ระบบระบายความร้อนมากกว่าเดิม ซึ่งนั่นก็หมายถึงการใช้พลังงานและต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันความล้มเหลวในการจัดการกับความร้อนสูงที่เกินไปก็อาจลดทอนอายุการใช้งานของชิ้นส่วนต่างๆ และกระทบถึงประสิทธิภาพการประมวลผล ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มประเด็นความไม่พอใจของผู้ใช้เข้าไปในสมการ แต่ยังรวมถึงประเด็นด้านข้อตกลงระดับการบริการ (SLA) อีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้เราเลิกสนใจ AI ความท้าทายนี้กลับกระตุ้นให้คิดอย่างสร้างสรรค์และวางแผนอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการควบคุมศักยภาพอันมหาศาลของ AI

สัญญาณเตือน ‘ภัยครั้งใหญ่’

หลายปีที่ผ่านมา หลายองค์กรได้เลือกใช้เครื่องปรับอากาศแบบเดิมในการระบายความร้อนเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ต่างๆ แม้ว่าวิธีนี้จะยังคงใช้ได้ผลดีแต่ก็ไม่ได้เป็นวิธีที่เหมาะที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ในทวีปนี้เป็นเขตร้อน 

แม้ว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศเป็นกระบวนการที่ง่าย แต่จากความต้องการในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนไปใช้โครงสร้างพื้นฐานของดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีความยืดหยุ่นจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น

หากพิจารณาจากข้อมูลของธนาคาร Asian Development Bank ปีที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น 26% ทั่วโลก แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าดาต้าเซ็นเตอร์มีส่วนเกี่ยวอย่างมาอย่างมากในเรื่องนี้ เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ 1 แห่ง อาจใช้พลังงานถึง 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งมากกว่าการใช้จากครัวเรือนทั่วไปถึง 10 เท่า

ดังนั้น นี่จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ เพราะเห็นได้ชัดว่าดาต้าเซ็นเตอร์อาจสร้างปัญหาทั้งในด้านการดำเนินงานและความยั่งยืน

มองเทรนด์แห่งอนาคต

ข้อมูลระบุว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ศักยภาพสูงคือเทรนด์แห่งอนาคต บริษัทดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกต้องนำวิธีการระบายความร้อนทางเลือกมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งาน AI ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

เช่น การระบายความร้อนแบบไฮบริดที่ครอบคลุมการระบายความร้อนด้วยของเหลวและการระบายความร้อนด้วยอากาศ ซึ่งการระบายความร้อนแบบนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการทำความเย็นโดยไม่จำเป็นต้องสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกที่ดีในการปรับขนาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญแบบไดนามิกเพื่อรองรับการประมวลผลและ AI ประสิทธิภาพสูง

ด้วยจำนวนแร็คมากขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์จะช่วยให้ทีมดาต้าเซ็นเตอร์สามารถใช้การระบายความร้อนแบบไฮบริดและพลังงานทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและทำความเข้าใจแก่นของปัญหาได้

อย่างไรก็ดี ทุกองค์กรต่างมุ่งหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานการระบายความร้อนด้วยอากาศและพลังงานและต้องการอย่างเร่งด่วน แต่สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์มีข้อกำหนดและข้อควรพิจารณาที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของการนำของเหลวเข้าสู่แร็ค และวิธีการที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่จะสามารถรองรับสิ่งที่กล่าวมาได้

ขยับสู่นวัตกรรมใหม่

กล่าวได้ว่าส่วนของการระบายความร้อนด้วยของเหลวถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเด่นระดับโลก เนื่องจากมีศักยภาพมากกว่าระบบอื่นถึงสามพันเท่า

ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาโดย เอ็นวิเดีย และ เวอร์ทิฟ พบว่า การระบายความร้อนด้วยของเหลวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ถึง 15.5%

นอกจากนี้ ด้วยการใช้พื้นที่น้อยลง การทำความเย็นแบบแช่ (Immersion Cooling) จะช่วยลดค่าใช้จ่าย GPU สำหรับงานไอทีได้ 7-12 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้การระบายความร้อนด้วยอากาศที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 600-1,100 ดอลลารืต่อตารางฟุต

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกกำลังมุ่งไปในทิศทางที่นี้ โดยกลุ่มบริษัท Dell'Oro Group คาดการณ์ว่า ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวจะทำรายได้ทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ยังคงต้องใช้พลังงานความหนาแน่นสูงเพื่อรองรับการระบายความร้อนปริมาณมาก ซึ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านไม่ราบรื่นและรวดเร็วเท่าที่ควร